วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติของภูเก็ต


ประวัติความเป็นมาของภูเก็ต มีหลายกระแส บ้างก็ว่าภูเก็ตเป็นเกาะ ที่ค้นพบโดยชาวประมง แต่เดิมเรียกว่า “บูกิต” ซึ่งเป็นภาษามลายูแปลว่าภูเขา เพราะเมื่อมองจากทะเล จะเห็นเหมือนมีภูเขา โผล่ขึ้นกลางน้ำ แต่บางกระแส ก็ว่าภูเก็ตมาจากคำว่า “ภูเก็จ” แปลว่าภูเขาที่มีค่า ซึ่งคำว่าภูเก็จนี้มีบันทึก ในเอกสารเมืองถลางว่า ใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2328 มีฐานะเป็นเมือง ที่ขึ้นตรงต่อเมืองถลาง ซึ่งต่อมาคำนี้ได้เปลี่ยนเป็น “ภูเก็ต” โดยไม่ทราบสาเหตุ ดังมีปรากฏอยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมา โดยเริ่มเป็นที่รู้จักกัน ในฐานะ มณฑลภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต ในเวลาต่อมา

วิวัฒนาการของภูเก็ต มีอยู่หลายช่วงด้วยกัน นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เห็นได้จากมีการขุดพบหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ คือ เครื่องมือหิน และขวานหิน ที่บ้านกมลา อ.กะทู้  โดยจากการตรวจสอบ ทำให้ทราบว่าหลักฐานดังกล่าว มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า เกาะภูเก็ตมีผู้คนอาศัยอยู่ ตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์

ในสมัยอาณาจักรกรีกโบราณ ก็ได้มีการกล่าวถึงภูเก็ต ในนามของแหลมจังซีลอน ตามแผนที่ของปโตเลมี (นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก) ซึ่งสันนิษฐานว่า ขณะนั้นภูเก็ตยังเป็นแหลมติดกับแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่พื้นดินบริเวณช่องปากพระ (ร่องน้ำระหว่างจังหวัดพังงา และภูเก็ต) จะถูกน้ำกัดเซาะ จนขาดจากกัน แสดงให้เห็นว่าภูเก็ต เป็นที่รู้จักของนักเดินทางในขณะนั้นแล้ว ในนามของแหลมจังซีลอน   
               
ภูเก็ตเป็นเมืองประเทศราช ของอาณาจักรต่างๆ เรื่อยมาตั้งแต่ประมาณ ต้นพุทธศตวรรษ 800 ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรศิริธรรมราช อาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเป็นจังหวัดหนึ่ง ในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากมาย ตั้งแต่เป็นเมืองท่าที่สำคัญ ในการเดินทางระหว่างสุวรรณภูมิ และทวีปอินเดีย ศูนย์กลางสำคัญ ในการค้าขาย-ทำเหมืองแร่ดีบุก และปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
               
สำหรับประวัติศาสตร์ที่สามารถอ้างอิงได้ และมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับภูเก็ตนั้นพอจะสรุปได้ดังนี้
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งห้างค้าแร่ดีบุก ในเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. 2126 ต่อมาในปีพ.ศ.2169 พระเจ้าทรงธรรมทรงทำสัญญา ให้ดัตช์เข้ามาผูกขาดการรับซื้อแร่ดีบุก ที่ถลางได้ เนื่องจากชาวดัตช์เริ่มเข้ามามีอิทธิพล บนเกาะชวามากขึ้น แต่ชาวถลางก็ลุกขึ้นสู้การกดขี่ของชาวดัตช์ โดยขับไล่ไปจากเกาะในปี พ.ศ. 2210 และต่อมาในสมัยพระนารายณ์มหาราช ทรงมีดำริที่จะให้สัมปทาน แก่ชาวฝรั่งเศส มาสร้างห้าง และผูกขาดการค้าแร่ดีบุกที่ถลาง (ยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา)
สมัยรัตนโกสินทร์-ปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 1(พ.ศ.2328) เกิดศึกถลางขึ้น ซึ่งคุณหญิงจัน และคุณหญิงมุกร่วมกับชาวถลาง ต้านศึกพม่าได้สำเร็จ จนได้รับราชทินนามตำแหน่ง เป็นท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร

ต่อมาในปี พ.ศ.2352 เกิดศึกถลางครั้งที่สองขึ้น ถลางพ่ายแพ้แก่ทัพพม่า อย่างยับเยิน เมืองถลาง กลายเป็นเมืองร้าง

15 ปีต่อมา ( พ.ศ.2367) รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นสร้างเมืองใหม่ ที่บ้านท่าเรือ ประจวบกับช่วงนั้น มีการพบสายแร่ ที่บ้านเก็ตโฮ่ (อ.กะทู้) และที่บ้านทุ่งคา (อ.เมืองภูเก็ต) ความเจริญ และชุมชนเมืองจึงย้ายไปตามแหล่ง ที่พบสายแร่แต่เมืองเหล่านั้น (บ้านกะทู้ , บ้านทุ่งคา) แต่ก็อยู่ในฐานะเมืองบริวารของถลาง

ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3-4 กิจการเหมืองแร่ มีความเจริญก้าวหน้ามาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการส่งส่วย “ดีบุก” มาเป็นการผูกขาดเก็บภาษีอากรแบบ “เหมาเมือง” ตลอดจนมีการทำ สนธิสัญญา กับต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจการค้าดีบุก ขยายตัวอย่างกว้างขวาง คนจีนพากันหลั่งไหล เข้ามาทำเหมืองจนกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ในภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2435) ได้มีการปฏิรูปการปกครอง เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล มีการแต่งตั้งให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และในช่วงนี้เองที่ภูเก็ต เริ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้วางรากฐาน ด้านต่างๆ ทั้งระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน, การพัฒนา ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ และวางรากฐานการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจในภูเก็ต คือ ตรา พ.ร.บ.เหมืองแร่, ริเริ่มการปลูกยางพารา ในภาคใต้ของประเทศไทยรวมทั้งภูเก็ต

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมากิจการเหมืองแร่เริ่มซบเซาลง กลุ่มนักลงทุนเริ่มมีแนวคิด ในการนำธุรกิจการท่องเที่ยว เข้ามาแทนที่ การทำเหมืองแร่ และในวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ได้เกิดเหตุการณ์ เผาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม นับเป็นการปิดฉากธุรกิจเหมืองแร่ ในภูเก็ตอย่างแท้จริง การท่องเที่ยวกลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนภูเก็ต
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง - กลุ่มอั้งยี่
จากการที่เมืองภูเก็ตมีชาวจีนมาอยู่อาศัยมาก ทำให้มีสมาคมลับหรือ “อั้งยี่” เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น สองพวกใหญ่ คือ กลุ่มปุนเถ้าก๋ง มีอิทธิพลอยู่ในบ้านกะทู้ ซึ่งเป็นแหล่งทำเหมือง ที่มีชาวจีนอยู่มาก และอีกพวกหนึ่งคือ กลุ่มเกี้ยนเต็ก มีเขตอิทธิพลอยู่ในตัวตลาดเมืองภูเก็ต ซึ่งอั้งยี่ทั้งสองกลุ่ม เป็นศัตรูคู่อริที่มักก่อเหตุวุ่นวายอยู่เนืองๆ โดยก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ครั้งใหญ่สามครั้งด้วยกัน คือ

เหตุการณ์จลาจลครั้งแรก เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2410 พวกอั้งยี่ทั้งสองกลุ่ม ได้ยกพวกฆ่าฟันกัน เพื่อแย่งชิงสายน้ำล้างแร่ จนกลายเป็นจลาจล ข้าหลวงส่วนกลาง ต้องเข้าระงับเหตุและปราบปราม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาล ต้องเลี้ยงอั้งยี่ คือเลือกคนจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากตั้งเป็น “หัวหน้าต้นแซ่” ควบคุมดูแลคนของตน และหากคนของตน คับข้องใจต้องการร้องทุกข์ หัวหน้าต้นแซ่ จะเป็นผู้เสนอคำร้องนั้น ให้แก่ทางการต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2419 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นอีกครั้งการ โดยครั้งนี้เป็นการจลาจลครั้งใหญ่ เกิดจากอั้งยี่ปุนเถ้าก๋ง ไม่พอใจที่นายเหมือง ไม่จ่ายค่าแรง เนื่องจากภาวะราคาดีบุกตกต่ำ ประกอบกับมีความแค้นเคืองเจ้าเมืองเป็นทุนเดิม จึงได้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกกว่า 2,000 คน ก่อการกบฏ เข้าล้อมศาลากลาง และมีการปล้น-ฆ่าราษฎรไทย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ เกินกำลัง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองในท้องถิ่น จะควบคุมได้ ต้องขอกำลังจากส่วนกลาง มาสนับสนุน ระหว่างที่รอ กองกำลังส่วนกลาง หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง ได้เป็นที่พึ่งให้แก่ชาวบ้าน ในการต่อสู้กับ พวกอั้งยี่ โดยท่านได้มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านทุกคนโพกหัว เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจ ในการต่อสู้ จนพวกอั้งยี่เรียกพวกชาวบ้านว่า “พวกหัวขาว”  จนในที่สุดชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ก็สามารถปราบอั้งยี่ ได้สำเร็จ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าพระราชทาน สมณศักดิ์แก่หลวงพ่อแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ซึ่งท่านเป็นที่เคารพเลื่อมใส ของชาวภูเก็ตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยหลวงพ่อแช่มไม่เพียงเป็นที่เคารพนับถือ ของคนภูเก็ตเท่านั้น ชาวมาเลเซีย และปีนัง ก็ให้ความเคารพศรัทธาท่านด้วย เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใด ก็พากันมาบนบาน ให้หลวงพ่อช่วยเหลือเสมอ

เหตุวิวาทรุนแรงครั้งสุดท้ายของพวกอั้งยี่ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2422 โดยพวกอั้งยี่เกี้ยนเต็ก หลอกพวกอั้งยี่ปุนเถ้าก๋งมากินเลี้ยง แล้วมอมเหล้าและฆ่าจุดไฟเผาทั้งเป็น นับร้อยคนในวัน 17 ค่ำเดือน 6 ตามปฏิทินจีน ซึ่งต่อมาชาวกะทู้รุ่นหลัง ได้ฝันเห็นวิญญาณเหล่านี้ พากันมาร้องขอที่อยู่อาศัย จึงได้ร่วมใจกันจัดหาที่ดินในบริเวณหมู่ 4 ตำบลกะทู้ สร้างศาลเจ้าขึ้น เพื่อเป็นที่สถิต ของดวงวิญญาณเหล่านั้น โดยทำซินจู้หรือแผ่นป้ายชื่อผู้ตายในคราวนั้น ตั้งไว้ในศาล แทนรูปเทพเจ้าต่างๆ พร้อมกับขนานนามศาลแห่งนี้ว่า “ศาลเจ้าต่องย่องสู” อันมีความหมายถึง ศาลเจ้าของผู้กล้าที่มีความซื่อตรง และซื่อสัตย์ และทุกปีในวัน17 ค่ำเดือน 6 ตามปฏิทินจีน อันตรงกับวันแห่งการสูญเสีย ชาวบ้านกะทู้ และชาวจีนในภูเก็ต จะพากันมาเซ่นไหว้ ดวงวิญญาณที่ศาลแห่งนี้

ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร
ประวัติศาสตร์ ของภูเก็ตมีมายาวนาน แต่ที่สำคัญ และน่าจดจำที่สุด คือ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีผู้ปกป้องเมืองถลาง ไว้จากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพ

ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรเกิดในปลายสมัยอยุธยา ท่านทั้งสองเป็นธิดา ของจอมร้างบ้านตะเคียน (ขุนนางผู้ปกครองเมืองถลาง) จึงได้รับการเลี้ยงดู มาเพื่อรับภาระ อันหนักยิ่งของตระกูล ทั้งการควบคุมไพร่พลขุดหาดีบุก การแสวงหาเครื่อง อุปโภค บริโภค สำหรับไพร่พล จำนวนมาก การหาตลาดจำหน่ายดีบุก การแสวงหาอาวุธ เพื่อป้องกันภัยจากพม่า และโจรสลัด และการรักษาสถานภาพ ของตระกูล จากการฉกฉวยแย่งชิงของศูนย์อำนาจภายนอก
ในสมัยที่เกิดเหตุการณ์ สงครามเก้าทัพนั้น ตรงกับ พ.ศ.2328 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้ยกทัพมาตีไทย โดยมีทัพหนึ่งยกมาทางใต้ เมื่อตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งได้แล้ว ก็มุ่งตีเมืองถลางทันที ขณะนั้นพระยาพิมล เจ้าเมืองถลางสามีของคุณหญิงจัน เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ไม่นานนัก จึงไม่มีใครบัญชาการรบ คุณหญิงจัน และนางมุกน้องสาว ร่วมกับเจ้าเมืองภูเก็จ คือ พระยาทุกขราช (เทียน) ลูกชายของคุณหญิงจัน จึงเตรียมป้องกันเมืองถลาง และใช้กลอุบาย ต่อสู้กับพม่า จนพม่าต้องถอยทัพกลับไป (ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 ) วีรกรรมครั้งนั้น ทำให้รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี นางมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ส่วนตำแหน่ง เจ้าเมืองถลาง ที่ว่างอยู่ทางกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งคนนอก คือ เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจนวงศ์) มาเป็นผู้สำเร็จราชการ แปดหัวเมืองภาคใต้ และเป็นใหญ่ในถลาง  แต่ในภายหลัง คนในกลุ่มเครือญาติถลาง คือ พระยาทุกขราช(เทียน) ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาถลางใน พ.ศ. 2331


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น